กฎหมายระหว่างประเทศกรณีเขาพระวิหาร
สมัยก่อนพี่นุ้ยมีเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศกรณีเขาพระวิหาร และเคยเขียนเรื่องการครอบครองปรปักษ์ในมุมของกฎหมายระหว่างประเทศไว้ด้วย (ลองดูวันที่ในรูปแล้วจะรู้ว่า สมัยก่อนจริงๆ) ไว้จะค่อยๆเอามาแชร์กันในโอกาสต่อไปนะคะ เขาพระวิหารผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ: นัยยะของการครอบครองปรปักษ์ต่อพื้นที่ทับซ้อนจุดต่างๆ นอกจากประเด็นแถลงการณ์ร่วมและการระงับข้อพิพาท คำถามที่ได้รับความสนใจอีกประการหนึ่งในกรณีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร คือ การครอบครองปรปักษ์ ตามข้อกังขาที่ว่าการที่ฝ่ายกัมพูชาได้ก่อสร้างชุมชนตลาดหน้าบันได วัด ร้านค้า โรงแรม สถานบันเทิง คาราโอเกะ จะส่งผลต่อการสูญเสียดินแดนของฝ่ายไทยหรือไม่ ประเด็นการครอบครองปรปักษ์มิได้มีนัยยะสำคัญต่อพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหารเพียงเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจสภาพความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในบริเวณอื่นๆ ทั้งนี้ ความเข้าใจของบุคคลทั่วไปต่อการครองครองปรปักษ์มักอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” แม้การครอบครองปรปักษ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่บางประการ แต่ทว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจะนำมาเปรียบเทียบกับการครองครองปรปักษ์ในกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ด้วยเหตุในเบื้องต้นคือ กฎหมายภายในประเทศมีผลบังคับต่อประชาชนหรือบุคคลธรรมดา...